วันพุธที่ 18 กันยายน พ.ศ. 2556
การสื่อความหมาย
การสื่อความหมาย
การสื่อความหมายเป็นพฤติกรรมสำคัญที่สัตว์สังคมทุกชนิดใช้เป็นเครื่องมือในการติดต่อซึ่งกันและกัน แสดงถึง
ความเป็นหมู่เหล่าเผ่าพันธุ์เดียวกัน การสื่อความหมายมีรากศัพท์มาจากภาษาลาตินว่า Communisหรือ Commusแปลว่า
คล้ายคลึง หรือ ร่วมกัน ซึ่งตรงกับภาษาอังกฤษว่า Communication การสื่อความหมายจึงเป็นกระบวนการส่งหรือ
ถ่ายทอดความรู้ เนื้อหา สาระ ความรู้สึก นึกคิด ทัศนคติ ค่านิยม ทักษะ ตลอดจนประสบการณ์จากบุคคลฝ่ายหนึ่ง
ซึ่งเรียกว่า "ผู้ส่ง" ไปยังบุคคลอีกฝ่ายหนึ่งซึ่งเรียกว่า "ผู้รับ"
โครงสร้างและองค์ประกอบของกระบวนการสื่อความหมาย
กระบวนการสื่อความหมายจะเกิดขึ้นได้อย่างสมบูรณ์ต้องประกอบด้วยโครงสร้างและองค์ประกอบดังนี้
1. ผู้ส่ง (Source or Sender) คือ แหล่งกำเนิดสารหรือบุคคลที่มีเจตนาจะส่งสารไปยังผู้รับ
อาจเป็นคน สัตว์ องค์การ หรือหน่วยงาน
2. สาร (Message) คือ เนื้อหา สาระ ความรู้สึก ทัศนคติ ทักษะ ประสบการณ์ ที่มีอยู่ในตัวผู้ส่ง
หรือแหล่งกำเนิด
3. ช่องทาง (Channel) คือ ช่องทางต่าง ๆ ที่ใช้ในการรับรู้สาร ได้แก่ ตา หู จมูก ลิ้น กาย โดยอาศัย
สื่อต่าง ๆ เป็นพาหะ เช่น รูป เสียง ความรู้สึกสัมผัส กลิ่น รส เป็นต้น
4. ผู้รับ (Receiver) คือ บุคคล องค์การ หรือหน่วยงาน ที่รับรู้สารจากผู้ส่ง เข้าสู่ตนเองโดยผ่าน
ช่องทางและสื่อต่าง ๆ ในข้อ 3
รูปแบบของการสื่อความหมาย
การสื่อความหมายจำแนกได้หลายรูปแบบ ดังนี้
1. จำแนกตามลักษณะในการสื่อความหมาย แบ่งได้เป็น 2 ประเภท คือ
1.1 ภาษาพูดหรือภาษาเขียน (Verbal Communication)
1.2 ภาษาท่าทางหรือสัญญาณ (Non-Verbal Communication)
2. จำแนกตามตำแหน่งของผู้ส่งหรือผู้รับ แบ่งได้เป็น 2 ประเภท คือ
2.1 การสื่อความหมายทางตรง (Direct Communication)
2.2 การสื่อความหมายทางอ้อม (Indirect Communication)
3. จำแนกตามพฤติกรรมในการโต้ตอบ แบ่งเป็น 2 ประเภท คือ
3.1 การสื่อความหมายทางเดียว (One-way Communication)
3.2 การสื่อความหมายสองทาง (Two- way Communication)
อุปสรรคในการสื่อความหมาย
การสื่อความหมายอาจล้มเหลวได้เนื่องจากอุปสรรคด้านต่าง ๆ ต่อไปนี้
1. ผู้ส่งขาดความสามารถในการเข้ารหัส (Encode) หรือแปลความต้องการของตนเป็นสัญลักษณ์
หรือสัญญาณต่าง ๆ ได้
2. ความบกพร่องของสื่อหรือช่องทาง การเลือกใช้สื่อและช่องทางที่ไม่เหมาะสม จะทำให้ประสิทธิภาพ
ของการสื่อความหมายลดลงได้
3. อุปสรรคจากสิ่งรบกวน (Noise) มี 2 ประเภท คือ
ก. สิ่งรบกวนภายนอก เช่น เสียงดังรบกวน อากาศร้อน กลิ่นไม่พึงประสงค์ แสงแดด ฝนสาด
ข. สิ่งรบกวนภายใน เช่น ความเครียด อารมณ์ขุ่นมัว อาการเจ็บป่วย ความวิตกกังวล
4. ผู้รับ ขาดความสามารถในการถอดรหัสสาร อันเนื่องมาจากสาเหตุต่อไปนี้
ก. อุปสรรคด้านภาษา (Verbalism)
ข. ความขัดแย้งกับประสบการณ์เดิม (Referent Confusion)
ค. ขีดจำกัดของประสาทสัมผัส (Limited Perception)
ง. สภาพร่างกายไม่พร้อม (Physical Discomfort)
จ. การไม่ยอมรับ (Reject)
ฉ. จินตนาการ (Image) ไม่ต้องกันกับผู้ส่งสาร
5. อุปสรรคด้านสาร ซึ่งมัอุปสรรคหลายอย่างที่จะช่วยเสริมให้การสื่อความหมายประสบผลสำเร็จได้ง่ายขึ้น เช่น
ก. สารที่มีความเด่น แปลกใหม่
ข. ไม่สร้างความลำบากให้กับผู้รับ
ค. ให้แรงจูงใจ เช่น การให้รางวัล
ง. เป็นแกนรวมประสบการณ์ของทั้งผู้ส่งและผู้รับ
จ. ตรงกับความต้องการของผู้รับ
การสื่อความหมายในการเรียนการสอน
กระบวนการเรียนการสอนเป็นกระบวนการสื่อความหมายอีกรูปแบบหนึ่ง ซึ่งมีองค์ประกอบดังนี้
1. ครูในฐานะเป็นผู้ส่งและผู้กำหนดจุดมุ่งหมายของระบบการสอน ครูจึงควรมีพฤติกรรมดังนี้
1.1 ต้องมีความเข้าใจในเนื้อหาที่สอนเป็นอย่างดี
1.2 มีความสามารถในการสื่อความหมาย เช่น การพูด การเขียน ลีลา ท่าทาง
1.3 ต้องจัดบรรยากาศในการเรียนให้เอื้อต่อการเรียนรู้
1.4 ต้องวางแผนจัดระบบการถ่ายทอดความรู้ให้เหมาะสมกับเนื้อหาและผู้เรียน
2. เนื้อหา หลักสูตร ตลอดจนทัศนคติ ทักษะ และประสบการณ์เป็นสิ่งสำคัญที่ครูจะถ่ายทอดไปสู่ผู้เรียน
ดังนั้นเนื้อหาควรมีลักษณะดังนี้
2.1 เหมาะสมกับเพศและวัยของผู้เรียน
2.2 สอดคล้องกับเทคนิค วิธีสอน หรือสื่อต่าง ๆ
2.3 เนื้อหาที่เกี่ยวกับกาลเวลา ควรปรับปรุงให้ทันสมัยอยู่เสมอ
3. สื่อหรือช่องทาง เป็นตัวกลางหรือพาหะที่นำเนื้อหาจากครูผู้สอนเข้าไปสู่ภายในของผู้เรียน ลักษณะของสื่อควรเป็นดังนี้
3.1 มีศักยภาพเหมาะสมกับธรรมชาติของเนื้อหา
3.2 สอดคล้องกับธรรมชาติของประสาทสัมผัสแต่ละช่องทาง
3.3 เด่น สะดุดตา ดูง่าย สื่อความหมายได้ดี
4. นักเรียนหรือผู้เรียน เป็นเป้าหมายหลักของกระบวนการเรียนการสอนที่จะทำให้ผู้เรียนเรียนรู้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ผู้เรียนจึงควรมีลักษณะดังต่อไปนี้
4.1 มีความสมบูรณ์ทางด้านร่างกาย โดยเฉพาะประสาทสัมผัสทั้ง 5
4.2 มีความพร้อมทางด้านจิตใจ อารมณ์มั่นคงปกติ
4.3 มีทักษะในการสื่อความหมาย
4.4 มีเจตคติต่อครูผู้สอนและเนื้อหาวิชา
ลักษณะการสื่อความหมายระหว่างผู้สอนกับผู้เรียน
1. การถ่ายทอดความรู้และการอบรมสั่งสอน อาจเป็นแบบทางเดียวหรือแบบสองทางก็ได้
2. การมอบหมายสั่งการหลังจากการให้ความรู้แล้ว ควรมีการเน้นหรือทบทวนคำสั่ง เพื่อความเข้าใจที่ถูกต้อง
3. การให้คำแนะนำในการแก้ปัญหาต่าง ๆ การสื่อความหมายจะเกิดขึ้นในรูปแบบต่าง ๆ ตามความเหมาะสม
4. การติชมผลงานเพื่อการพัฒนาหรือการปรับปรุงแก้ไข การสื่อความหมายที่ดีจะนำไปสู่การสร้างสรรค์ง่าย
5. การสนทนาโต้ตอบตามปกติ ซึ่งเกิดขึ้นเป็นประจำ การสื่อความหมายควรมีลักษณะเป็นกันเอง เอื้ออาทร และ
มีทัศนคติที่ดีต่อกัน
การสื่อความหมาย
โดย ราตรี วิเศษชาติ (สื่อ1/56 ) 53191100354
การปรับการใช้สื่อความหมายกับการเรียนการสอน
1. ครูผู้สอนใช้การสื่อความหมายแบบสองทาง (Two-way Communication) เพื่อประเมินว่าการถ่ายทอดสาร
ไปยังผู้เรียนได้ผลสำเร็จหรือไม่ อย่างไร
2. ครูผู้สอนควรใช้สื่อหลาย ๆ ชนิด หรือที่เรียกว่า สื่อประสม (Multi Media) เพื่อให้สอดคล้องกับความสนใจ
ของผู้เรียนแต่ละคน
3. ควรให้ผู้เรียนมีประสบการณ์การเรียนรู้หลาย ๆ ด้าน ด้วยประสาทสัมผัสหลาย ๆ ทาง
4. ครูผู้สอนควรมีทักษะในการถ่ายทอด เช่น การพูด การฟัง การเขียน การใช้สื่อชนิดต่างๆ
5. จะต้องป้องกันหรือขจัดสิ่งรบกวนที่จะเกิดขึ้นในระหว่างการเรียนการสอนให้หมดสิ้นหรือเหลือน้อยที่สุด
6. ผู้เรียนต้องเพิ่มประสิทธิภาพในการรับรู้ ทั้ง Verbal และ Non-Verbal เช่น ให้ความสนใจ สังเกต
ศึกษาเพิ่มเติม เป็นต้น
ความล้มเหลวของการสื่อความหมายในการเรียนการสอน
1. ครูผู้สอนไม่บอกวัตถุประสงค์ในการเรียนรู้ให้ผู้เรียนทราบก่อนลงมือสอน ทำให้ผู้เรียนขาดเป้าหมายในการเรียน
2. ครูผู้สอนไม่คำนึงถึงข้อจำกัดและขีดความสามารถของผู้เรียนแต่ละคน จึงมักใช้วิธีสอนแบบเดียวกันทุกคน
3. ครูผู้สอนไม่สนใจที่จะจัดบรรยากาศ ขจัดอุปสรรคและสร้างความพร้อมให้แก่ผู้เรียนก่อนลงมือสอน
4. ครูผู้สอนบางคนใช้คำยาก ทำให้ผู้เรียนไม่เข้าใจความหมายบางคำ และเนื้อหาโดยรวม
5. ครูผู้สอนมักนำเสนอเนื้อหา วกวน สับสน รวดเร็ว ไม่สัมพันธ์ต่อเนื่อง กระโดดไปมาทำให้เข้าใจยาก
6. ครูผู้สอนไม่สนใจที่จะใช้สื่อการสอนหรือเลือกใช้สื่อการสอนไม่เหมาะสมกับเนื้อหาและระดับของผู้เรียน
ดังนั้นในกระบวนการเรียนจึงควรคำนึงถึงอุปสรรคต่าง ๆ และพยายามขจัดให้หมดไป เพื่อให้ผู้เรียนรู้ได้
อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น